การติดตามผลการแก้ไขข้อบกพร่องของ อปท. ตามข้อทักท้วงของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน


การติดตามผลการแก้ไขข้อบกพร่องของ อปท. ตามข้อทักท้วงของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน
1. การดำเนินการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
1.1 กรณี สตง. แจ้งผลการตรวจสอบโดยไม่มีข้อสังเกต
- องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่ต้องรายงานจังหวัด หรือกระทรวงมหาดไทยทราบ
1.2 กรณี สตง. แจ้งผลการตรวจสอบโดยมีข้อสังเกต หรือข้อเสนอแนะ



- ดำเนินการตามข้อทักท้วงโดยเร็ว ภายใน 45 วันนับจากวันที่ได้รับแจ้งข้อทักท้วง(ข้อ 91 ของระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการรับ เงิน การเบิกจ่ายเงิน ฯ พ.ศ. 2541)
- แจ้งผลการดำเนินการตามข้อทักท้วง ให้จังหวัด และ สตง. ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งข้อทักท้วง(มาตรา 44 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการ ตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2542)
- การแจ้งผลการดำเนินการ ให้ชี้แจงหรือรายงานผลการดำเนินการเรียงลำดับเป็นข้อๆ ให้ครบถ้วนชัดเจนทุกข้อตามที่ สตง. ทักท้วงหรือเสนอแนะให้ละเอียดชัดเจน โดยแสดงให้เห็นถึงความคืบหน้าของการดำเนินการ เช่น
: กรณีมีลูกหนี้ภาษีหรือรายได้คงค้าง จะต้องรายงานผลการดำเนินการว่าเร่งรัดจัดเก็บได้เท่าไร คงค้างเท่าใด มิใช่รายงานเพียงว่าได้ให้เจ้าหน้าที่เร่งรัดจัดเก็บแล้ว และหากจัดเก็บได้เป็นจำนวนน้อยมากหรือจัดเก็บไม่ได้ จะต้องชี้แจงเหตุผลและมาตรการที่ได้ดำเนินการไปแล้ว หรือมาตรการที่จะดำเนินการต่อไปด้วย
: กรณีเมื่อจัดเก็บรายได้หรือลูกหนี้ภาษีคงค้างได้แล้ว ไม่ต้องจัดส่งสำเนาใบเสร็จรับเงิน แต่หากเป็นกรณีที่ สตง. ทักท้วงเรียกเงินคืนคลัง ให้ส่งสำเนาใบเสร็จรับเงินให้ตรวจสอบด้วย
: กรณีเงินประกันสัญญาครบกำหนดจ่ายคืนคงค้าง ให้รายงานผลคืบหน้าการดำเนินการว่า ได้จ่ายคืนเงินให้ผู้วางประกันแล้วจำนวน เท่าไร คงค้างเท่าไร และกรณีไม่มีผู้มารับคืนได้ดำเนินการอย่างไร หรือได้โอนเข้าบัญชีเงินผลประโยชน์จำนวนเท่าไร (หนังสือกระทรวงมหาดไทย ที่ มท. 0313.6/ว 1067 ลว. 5 เม.ย. 2537 เรื่อง มอบอำนาจการติดตามและแจ้งความคืบหน้าการดำเนินการของหน่วยการบริหารราชการ ส่วนท้องถิ่นตามข้อเสนอแนะของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน)
1.3 กรณีได้ชี้แจงข้อทักท้วง แต่ สตง. ยืนยันว่าไม่มีเหตุผลที่จะล้างข้อทักท้วง
- องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะต้องชี้แจงแสดงเหตุผล และรายงานให้ผู้ว่าราชการจังหวัดวินิจฉัยภายใน 15 วันนับจากวันที่ได้รับคำยืนยันจาก สตง. (ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการรับเงิน การเบิกจ่ายเงินฯ พ.ศ. 2541)
- ในกรณีที่ต้องปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของผู้ว่าราชการจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะต้องปฏิบัติให้เสร็จสิ้นภายใน 45 วัน นับจากวันที่ได้รับทราบผลการวินิจฉัยจากจังหวัด (ข้อ 92 ของระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการรับเงิน การเบิกจ่ายเงินฯ พ.ศ. 2541 ข้อ 92 วรรคสอง)
- รายงานผลการดำเนินการตามคำวินิจฉัยฯ ให้จังหวัด และ สตง. ทราบด้วย
2. การดำเนินการของจังหวัด
2.1 กรณี สตง. แจ้งผลการตรวจสอบโดยไม่มีข้อสังเกต
- จังหวัดไม่ต้องรายงานให้กระทรวงมหาดไทยทราบ
2.2 กรณี สตง. แจ้งผลการตรวจสอบโดยมีข้อสังเกต หรือข้อเสนอแนะ
- เมื่อพ้นกำหนด 60 วันนับจากวันที่ได้รับรายงานจากสตง. จังหวัด (โดยกลุ่มส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัด) จะต้องเร่งรัด ติดตาม ขอทราบผลการดำเนินการแก้ไขข้อบกพร่องตามข้อทักท้วงของ สตง. จากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นโดยเร็ว
- เมื่อได้รับผลการดำเนินการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแล้ว ให้ตรวจสอบว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ดำเนินการแก้ไขข้อบกพร่องตามที่ สตง.ทักท้วงครบถ้วนทุกข้อ หรือไม่ รวมทั้งการดำเนินการนั้นต้องแสดงให้เห็นถึงความคืบหน้าของการดำเนินการด้วย
- หากปรากฏว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นยังดำเนินการไม่ครบถ้วน หรือไม่ละเอียดชัดเจนตามที่ สตง. ทักท้วง ให้แจ้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินการให้ครบถ้วนแล้วรายงานให้จังหวัดทราบ
2.3 การรายงานผลการดำเนินการ
- เมื่อการดำเนินการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นครบถ้วนเรียบร้อยทุกข้อตามที่ สตง. ทักท้วงแล้ว ให้แจ้งผลการดำเนินการให้ สตง. ทราบ
- สำเนาหนังสือที่แจ้ง สตง. พร้อมผลการดำเนินการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้กระทรวงมหาดไทย โดยไม่ต้องแนบรายละเอียดประกอบ เช่น รายงานการตรวจสอบของ สตง. สำเนาใบเสร็จรับเงินค่าภาษีที่จัดเก็บจากลูกหนี้ ภาษีคงค้าง สำเนาฎีกาการเบิกจ่ายเงินที่ สตง. แจ้งให้ค้นหาและส่งให้ตรวจสอบ เป็นต้น
2.4 กรณีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นส่งเรื่องให้วินิจฉัย เพื่อล้างข้อทักท้วงของ สตง.
- ผู้ว่าราชการจังหวัดต้องวินิจฉัยภายใน 30 วันนับจากวันที่ได้รับเรื่องจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แล้วแจ้งผลการ วินิจฉัยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สตง. และมท. ทราบด้วย (ข้อ 92 ของระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการรับเงิน การเบิกจ่ายเงินฯ พ.ศ. 2541)
- ในกรณีที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องปฏิบัติตามคำวินิจฉัย ให้ติดตามผลการดำเนินการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้เป็นไปตามคำวินิจฉัย ด้วย
แต่หากไม่อยากจ่ายเงินคืน ต้องพิจารณาข้อกฎหมาย แบบนอกกรอบ ติดตามข่าวงานอบรมกฎหมายต่อไป เร็วๆ นี้ ในหลักสูตร “ปัญหาความรับผิดตามข้อเสนอแนะของ สตง.”

ไม่มีความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.