ร่างกฎกระทรวงตามกฎหมายควบคุมอาคารที่ผ่านความเห็นชอบ ครม.เมื่อ 20 ต.ค.2563 และใกล้ประกาศบังคับใช้ 2 ฉบับ
ร่างกฎกระทรวงตามกฎหมายควบคุมอาคารที่ผ่านความเห็นชอบ ครม.เมื่อ 20 ต.ค.2563 และใกล้ประกาศบังคับใช้ 2 ฉบับ
1. เรื่อง ร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ....) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 [แก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวง ฉบับที่ 55 (พ.ศ. 2543) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522]
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ....) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ และให้ดำเนินการต่อไปได้
สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
แก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวง ฉบับที่ 55 (พ.ศ. 2543) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ดังนี้
1. เพิ่มบทนิยามคำว่า “ผนังทึบ” “แนวอาคาร” และ “เขตแหล่งน้ำสาธารณะ”
2. กำหนดให้การก่อสร้างห้องแถว ตึกแถว หรือบ้านแถวในที่ดิน หากเป็นการก่อสร้างขึ้นเพื่อทดแทนอาคารเดิมหรือดัดแปลงอาคาร ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องนำข้อกำหนดเกี่ยวกับความกว้างของอาคารแต่ละคูหา ความยาวรวม ที่ว่างด้านข้าง ที่ว่างด้านหลัง และจำนวนคูหาของอาคารที่ต่อเนื่องกันตามกฎกระทรวงนี้มาใช้บังคับ แต่ต้องไม่เป็นการเพิ่มความสูงของอาคาร ไม่เป็นการเพิ่มพื้นที่อาคารรวมกันทุกชั้นเกินร้อยละ 2 และไม่เป็นการเพิ่มพื้นที่ปกคลุมดิน
3. กำหนดให้สิ่งก่อสร้างประเภทถังเก็บของ เสาสัญญาณโทรศัพท์หรือโทรทัศน์ และสิ่งอื่นที่สร้างขึ้นเป็นอาคารที่มีความสูงจากระดับฐานตั้งแต่ 10 เมตรขึ้นไป ต้องมีระยะห่างจากเขตที่ดินทุกด้านไม่น้อยกว่า 1 ใน 8 ส่วนของความสูงของสิ่งที่สร้างขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องมากกว่า 6 เมตร แต่ต้องไม่น้อยกว่า 3 เมตร ทั้งนี้ ไม่รวมฐานรากและอุปกรณ์ยึดรั้ง ยกเว้นกรณีเสาสัญญาณตั้งอยู่บนหลังคา ดาดฟ้า หรือส่วนหนึ่งส่วนใดของอาคาร ไม่ต้องนำมาคิดรวมเป็นความสูงของอาคารนั้น
2. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงการแก้ไขอาคารที่มีสภาพหรือมีการใช้ที่อาจเป็นภยันตรายต่อสุขภาพ ชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สิน หรืออาจไม่ปลอดภัยจากอัคคีภัย หรือก่อให้เกิดเหตุรำคาญ หรือกระทบกระเทือนต่อการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงการแก้ไขอาคารที่มีสภาพหรือมีการใช้ที่อาจเป็นภยันตรายต่อสุขภาพ ชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สิน หรืออาจไม่ปลอดภัยจากอัคคีภัย หรือก่อให้เกิดเหตุรำคาญ หรือกระทบกระเทือนต่อการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. .... ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ และให้ดำเนินการต่อไปได้
ทั้งนี้ ร่างกฎกระทรวงที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ เป็นการปรับปรุงกฎกระทรวง ฉบับที่ 47 (พ.ศ. 2540) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 โดยปรับปรุงหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการแก้ไขระบบความปลอดภัยเกี่ยวกับอัคคีภัยของอาคารเก่าที่มีสภาพหรือมีการใช้ที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สินหรืออาจไม่ปลอดภัยจากอัคคีภัยหรือก่อให้เกิดเหตุรำคาญหรือกระทบกระเทือนต่อการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม เพื่อให้มีความปลอดภัยต่อการใช้สอยอาคารมากยิ่งขึ้น และมีความเหมาะสมสอดคล้องกับสภาพการณ์ในปัจจุบัน
สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
ปรับปรุงกฎกระทรวง ฉบับที่ 47 (พ.ศ. 2540) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ดังนี้
1. แก้ไขเพิ่มเติมบทนิยาม ดังนี้
1.1 ตัดบทนิยาม “อาคารสูง” และ “อาคารขนาดใหญ่พิเศษ”
1.2 แก้ไขบทนิยาม
“อาคารขนาดใหญ่” หมายความว่า อาคารที่มีพื้นที่รวมกันทุกชั้น หรือชั้นหนึ่งชั้นใดในหลังเดียวกันเกิน 2,000 ตารางเมตร หรืออาคารที่มีความสูงตั้งแต่ 15.00 เมตรขึ้นไป และมีพื้นที่รวมกันทุกชั้นหรือชั้นหนึ่งชั้นใดในหลังเดียวกันเกิน 1,000 ตารางเมตร แต่ไม่เกิน 2,000 ตารางเมตร การวัดความสูงของอาคารให้วัดจากระดับพื้นดินที่ก่อสร้างถึงพื้นดาดฟ้าสำหรับอาคารจั่วหรือปั้นหยาให้วัดจากระดับพื้นดินที่ก่อสร้างถึงยอดผนังของชั้นสูงสุด
“อาคารสาธารณะ” หมายความว่า อาคารที่ใช้เพื่อประโยชน์ในการชุมนุมได้โดยคนทั่วไป เพื่อกิจกรรมทางราชการ การเมือง การศึกษา การศาสนา การสังคม การนันทนาการ หรือการพาณิชยกรรม เช่น โรงมหรสพ หอประชุม โรงแรม โรงพยาบาล หอสมุด สนามกีฬากลางแจ้ง สถานกีฬาในร่ม ตลาด ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า สถานบริการ ท่าอากาศยาน อุโมงค์ สะพาน อาคารจอดรถ สถานีรถ ท่าจอดเรือ โป๊ะจอดเรือ สุสาน ฌาปนสถาน ศาสนสถาน สถานกวดวิชาหรือกิจกรรมอื่นที่คล้ายคลึงกัน เป็นต้น
“อาคารอยู่อาศัยรวม” หมายความว่า อาคารหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของอาคารที่ใช้เป็นที่อยู่อาศัยสำหรับหลายครอบครัว โดยแบ่งออกเป็นหน่วยแยกจากกันสำหรับแต่ละครอบครัว
1.3 เพิ่มบทนิยาม
“อาคารชุด” หมายความว่า อาคารชุดตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด
“หอพัก” หมายความว่า อาคารสำหรับใช้เป็นหอพักตามกฎหมายว่าด้วยหอพัก
“วัสดุไม่ติดไฟ” หมายความว่า วัสดุที่ใช้งานและเมื่ออยู่ภายใต้สภาวะแวดล้อมที่ใช้งานแล้วจะไม่สามารถไม่ติดไฟ ไม่เกิดการเผาไหม้ ไม่สนับสนุนการเผาไหม้ หรือไม่ปล่อยไอที่พร้อมจะลุกไหม้เมื่อสัมผัสกับเปลวไฟหรือความร้อน เช่น อิฐ อิฐมวลเบา ยิปซั่มทนไฟ ซีเมนต์บอร์ด กระจกทนไฟ เป็นต้น
“การอุดหรือปิดล้อมช่องท่อและช่องว่างระหว่างท่อที่ผ่านพื้นหรือผนัง” หมายความว่า การป้องกันช่องท่อและช่องว่างระหว่างท่อที่ผ่านพื้นหรือผนังเพื่อป้องกันไม่ให้ควันและไฟลุกลามและเพิ่มความสมบูรณ์ของส่วนกั้นแยกของพื้นหรือผนังทนไฟให้ใช้งานได้ตรงตามวัตถุประสงค์
2. แก้ไขเพิ่มเติมประเภทอาคารที่บังคับใช้ โดยเพิ่มอาคารชุมนุมคน อาคารชุด และหอพัก
3. กำหนดให้การสั่งการให้แก้ไขอาคาร เจ้าพนักงานท้องถิ่นจะสั่งให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารดำเนินการได้ตามลักษณะที่จำเป็นต้องมีสำหรับอาคารนั้น ๆ ในกรณีดังต่อไปนี้
3.1 อาคารที่มีความสูงตั้งแต่สี่ชั้นขึ้นไปหรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษที่มีความสูงตั้งแต่สองชั้นขึ้นไป ให้ติดตั้งบันได้หนีไฟที่ไม่ใช่บันไดแนวดิ่งเพิ่มจากบันไดหลัก ให้เหมาะสมกับพื้นที่ของอาคารแต่ละชั้น โดยไม่ถือเป็นการดัดแปลงอาคาร แต่ต้องยื่นแบบให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นตรวจพิจารณาให้ความเห็นชอบ และบันไดหนีไฟต้องมีลักษณะตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
3.2 อาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษ ให้มีผนังและประตูที่ทำด้วยวัสดุไม่ติดไฟที่สามารถปิดกั้นมิให้เปลวไฟหรือควันเมื่อเกิดเพลิงไหม้เข้าไปใบบริเวณบันได ที่มิใช่บันไดหนีไฟของอาคาร
3.3 อาคารสูงหรืออาคารชนิดใหญ่พิเศษเฉพาะพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดอัคคีภัย เช่น ห้องเก็บสิ่งของหรือวัสดุจำนวนมาก ฯลฯ ให้มีการกั้นแยกของอาคาร โดยมีอัตราการทนไฟไม่น้อยกว่า 1 ชั่วโมง หรือเป็นไปตามมาตรฐานว่าด้วยการกั้นแยกของกรมโยธาธิการและผังเมือง หรือติดตั้งระบบดับเพลิงอัตโนมัติ
3.4 อาคารสูง ให้มีระบบป้องกันเพลิงไหม้ ซึ่งประกอบด้วยระบบท่อยืนและหัวรับน้ำดับเพลิงตามลักษณะที่กำหนดในกฎกระทรวง
3.5 ให้มีการอุดหรือปิดล้อมช่องท่อและช่องว่างระหว่างท่อที่ผ่านพื้นหรือผนังโดยมีอัตราการทนไฟไม่น้อยกว่า 1 ชั่วโมง
3.6 ให้มีการติดตั้งแบบแปลนแผนผังของอาคารแต่ละชั้นตามทิศทางการวางตัวของอาคาร แสดงตำแหน่งห้องต่าง ๆ ตำแหน่งที่ติดตั้งอุปกรณ์ดับเพลิง อุปกรณ์ฉุกเฉินต่าง ๆ ประตูหรือทางหนีไฟของชั้นนั้นติดไว้ในตำแหน่งที่เห็นได้ชัดเจนที่บริเวณห้องโถงหรือหน้าลิฟต์ทุกแห่งทุกชั้นของอาคาร และบริเวณพื้นที่ชั้นล่างของอาคารต้องจัดให้มีแบบแปลนแผนผังของอาคารทุกชั้นเก็บรักษาไว้ที่ห้องควบคุมหรือห้องที่สามารถเข้าถึงได้ง่ายเพื่อให้สามารถตรวจสอบได้โดยสะดวก
3.7 ให้ติดตั้งเครื่องดับเพลิงยกหิ้วตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ตามชนิดและขนาดที่เหมาะสมสำหรับดับเพลิงที่เกิดจากประเภทของวัสดุที่มีในแต่ละชั้น
3.8 อาคารสูง อาคารขนาดใหญ่พิเศษ อาคารขนาดใหญ่ และอาคารชุมนุมคนให้ติดตั้งระบบแจ้งเหตุเพลิงไหม้ทุกชั้น โดยระบบแจ้งเหตุเพลิงไหม้ต้องมีลักษณะตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
3.9 ให้ติดตั้งระบบไฟส่องสว่างสำรองเพื่อให้มีแสงสว่าง สามารถมองเห็นช่องทางเดินได้ขณะเพลิงไหม้ และมีป้ายบอกชั้นและป้ายบอกทางหนีไฟที่ด้านในและด้านนอกประตูหนีไฟทุกชั้นที่สามารถมองเห็นได้ชัดเจนตลอดเวลา
3.10 อาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษ ให้ติดตั้งระบบป้องกันอันตรายจากฟ้าผ่า ซึ่งประกอบด้วยตัวนำล่อฟ้า ตัวนำลงดิน และหลักสายดินที่เชื่อมโยงกันเป็นระบบโดยให้เป็นไปตามมาตรฐานว่าด้วยระบบป้องกันอันตรายจากฟ้าผ่าของกรมโยธาธิการและผังเมือง หรือมาตรฐานอื่นที่คณะกรรมการควบคุมอาคารให้การรับรอง
4. กำหนดให้ในกรณีเจ้าพนักงานท้องถิ่นสั่งให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารดำเนินการแก้ไขอาคาร ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นแต่งตั้งคณะนายช่างเพื่อตรวจสอบสภาพ หรือการใช้อาคารหรือระบบความปลอดภัยเกี่ยวกับอัคคีภัย ซึ่งเดิมกำหนดเพียงนายช่างเพียงคนเดียวก็สามารถตรวจสอบได้
5. กำหนดให้เจ้าของอาคารที่ได้รับคำสั่งให้แก้ไขอาคาร กรณีที่อาคารเป็นภยันตรายต่อชีวิต หรือร่างกาย ที่เกิดจากความไม่มั่นคงแข็งแรงของโครงสร้างอาคาร ต้องยื่นแบบที่รับรองโดยวิศวกรรมตามกฎหมายว่าด้วยวิศวกร สาขาวิศวกรรมโยธา ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นตรวจพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนดำเนินการ
Leave a Comment