มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด : ยุบองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น!!!


ข่าวยุบองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) กระเส็นกระสายมาตั้งแต่หลังรัฐประหาร แม้จะมีแหล่งข่าวยืนยันว่าจะไม่ยุบทั้งหมด แต่จะยุบหรือปฏิรูปเฉพาะองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) บ้างก็ว่า ควรยุบรวม อบต. ให้มีขนาดใหญ่ขึ้นจะได้มีการจัดการที่เป็นระบบและประหยัดมากขึ้น อีกกระแสก็มาจากภาคีเครือข่ายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นแห่งชาติที่เสนอสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2558 ให้ยุบรวมองค์กร เนื่องจากเป็นแหล่งแสวงหาผลประโยชน์จากงบประมาณแผ่นดิน บ้างก็ว่านักการเมืองท้องถิ่นซื้อเสียงเพื่อหวังไปหาประโยชน์

ที่จริง ถ้าจะเอาเรื่องการทุจริตในหน้าที่มาเป็นเหตุแห่งการยุบองค์กร เราก็สามารถใช้เหตุผลนี้ยุบกระทรวงทุกกระทรวง (โดยเฉพาะกระทรวงที่รับผิดชอบโครงการจำนำข้าว!!) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มหาวิทยาลัย รวมไปถึงวัดวาอารามด้วย ดังนั้น หากจะยกเรื่องนี้มาใช้ จะดูเป็นการใช้เหตุผลที่ง่ายไปหน่อย เพราะส่วนงานของรัฐไม่ว่าจะเป็นส่วนกลางหรือท้องถิ่น ถ้ามีการให้อำนาจกำกับและควบคุมแล้ว ก็จะมีช่องทางให้แสวงหาผลประโยชน์ได้ทั้งนั้น ที่สำคัญคือ ระบบ เราต้องแยกแยะระหว่างสถาบัน องค์กร และบุคลากร หากบุคลากรทุจริตก็ต้องให้ออกจากราชการไป ถ้าระบบไม่ดีก็ต้องแก้ไขที่ระบบป้องกัน

หากมาดูขนาดงบประมาณหรือแหล่งแสวงหาผลประโยชน์กันละก็ต้องยุบ กทม.ก่อน เพราะมีรายได้กว่า 11,000 ล้านบาท มากกว่าสมุทรสงครามที่มีขนาดงบประมาณท้องถิ่นต่ำที่สุดประมาณ 1,600 ล้านบาท คือใหญ่กว่ากันเกือบ 7 เท่า แล้วคนกรุงเทพฯ จะยอมหรือ?

ส่วนปัญหาผิดกฎระเบียบของราชการ ซึ่งถูกไปเหมารวมเป็นปัญหาทุจริตที่ควบคุม อปท. ทำให้ อปท.เหมือนถูกตราสัง ไม่สามารถสร้างนวัตกรรมพัฒนาได้เต็มที่ เช่น แม้ อปท.จะอยากให้ทุนการศึกษาเด็กในพื้นที่ไปเรียนต่อต่างถิ่นก็ผิดระเบียบ อปท. จะตั้งกองทุนให้ชาวบ้านกู้แล้วเอารายได้มาเป็นสวัสดิการก็ผิดระเบียบ 

สิ่งที่กระทรวงมหาดไทยควรทำคือสะสางกฎระเบียบดูว่าอะไรเป็นอุปสรรคต่อนวัตกรรมด้านการพัฒนาหรือไม่ อย่างไร



ประเด็นต่อมาคือ การยุบรวม อบต.ที่เล็กเกินไป ทำให้ไม่มีประสิทธิภาพเชิงขนาด ประสบการณ์ของสถาบัน ที่ทำงานกับ อบต. เล็กๆ พบว่า อบต.เหล่านี้อาจมีปัญหาด้านรายได้การบริหารก็จริง แต่ประโยชน์ทางด้านอื่นมหาศาลกว่า เพราะ อบต.เล็กๆ ที่มีชาวบ้านแค่ 1,000 คน ถึง 5,000 คน จะกลายเป็น อบต.ของประชาชน เพราะใน อบต.เล็กๆ ชาวบ้านรู้จักกันหมด แถมรู้เช่นเห็นชาตินักการเมืองท้องถิ่นเป็นอย่างดี เจ้าหน้าที่ของสถาบันที่ผู้เขียนทำงานอยู่เคยนำนักวิชาการไปให้ความรู้เกี่ยวกับปุ๋ยชีวภาพให้กับ อบต. ที่อำเภอแม่แจ่ม พอถึงเวลานัดหมายว่าจะมาร่วมกันทำภาคปฏิบัติ ซึ่งต้องอาศัย อบต. ให้มีส่วนร่วมในการจัดการพื้นที่ ปรากฏว่านายก อบต.ไม่ได้เข้าประชุม เมื่อเจ้าหน้าที่สถาบันถามชาวบ้านว่า วันนี้นายกไม่มา หากนายกไม่รับช่วยจัดการจะทำอย่างไร ชาวบ้านตอบว่า "เขาต้องทำแน่ ถ้าเขาไม่ทำเราจะไม่เลือกเขาอีก"

ในหลายพื้นที่มีการวิจัยระดับท้องถิ่นได้มีการชี้ให้เห็นว่า ชาวบ้านเริ่ม "ตื่นรู้" ว่าเงินที่ได้รับตอนเลือกตั้งเป็นแค่ผลประโยชน์ระยะสั้น เทียบไม่ได้เลยกับผลประโยชน์ระยะยาว ซึ่งระยะหลังเรียกกันว่า "ประชาธิปไตยที่กินได้" ความคิดที่ว่า "ชาวบ้านคิดไม่ได้ เลือกไม่เป็น" นั้นเป็นมายาคติของชาวกรุงบางคนที่ได้รับข้อมูลล้าสมัยเท่านั้น 

การศึกษาของสถาบันโดยนายชัยพงษ์ สำเนียง (2557) พบว่า อบต. อปท. ขนาดเล็กเป็นเวทีฝึกสอนประชาธิปไตยที่ดีของประเทศไทย และยังมีการศึกษาหลายชิ้นของแผนงานสร้างเสริมนโยบายสาธารณะที่ดี (นสธ.) ของสถาบันที่สรุปได้ว่า ชาวบ้านตัดสินใจและแยกแยะระหว่างการเมืองท้องถิ่นกับการเมืองระดับชาติต่างกัน ในท้องถิ่นขนาดเล็กผู้บริหารรู้ดีว่าไม่สามารถทำในสิ่งที่ประชาชนไม่ต้องการเพราะจะไม่ได้รับการเลือกตั้งในคราวต่อไป (อภิชาต 2556)

ที่จริง อปท. เป็นกลไกที่สำคัญในการกระจายอำนาจอย่างมีส่วนร่วม เป็นกลไกสำคัญในการบำบัดทุกข์บำรุงสุขอย่างทั่วถึง การยุบ อปท.ก็เป็นการสวนกระแสการสร้างประชาธิปไตยอย่างน่าเสียดาย! ผู้เขียนไม่ปฏิเสธว่าถึงแม้ อปท. จำนวนมากจะยังมีจุดอ่อนอยู่หลายจุด แต่ก็ยังมี อบต.ดีๆ อีกมากเหมือนกัน โดยเฉพาะ อบต.ขนาดเล็ก ในพื้นที่ยากจน (แน่นอนว่าย่อมเป็นพื้นที่มีผลประโยชน์น้อย) เราจะได้พบนายก อบต.ที่ทุ่มเท อุทิศตน และพยายามใช้อำนาจและกำลังที่มีทุ่มเทให้ประชาชนอย่างเต็มที่

ผู้เขียนเห็นว่าการเลือกตั้งใน อปท.ขนาดเล็กโดยเฉพาะในชนบท นอกจากจะเป็นเวทีประชาธิปไตยแล้ว ยังสามารถช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนได้ด้วย 



แนวความคิดการกระจายอำนาจของไทยในปัจจุบันยังเป็นอยู่ 2 กระแสคือ หนึ่ง การให้อำนาจท้องถิ่นไปให้บริการสาธารณะเท่านั้น และ สอง การให้บริการสาธารณะและปกครองตนเองตามเจตนารมณ์ของประชาชนในท้องถิ่น จากการศึกษาที่ผ่านมาพบว่าเทศบาลขนาดใหญ่สนใจแต่แนวคิดแรก เพราะแค่จัดการขยะก็ทำไม่ไหวแล้ว ในขณะที่ อปท.ขนาดเล็กจะสนใจแนวคิดที่สอง โดยเฉพาะการจัดการทรัพยากรในท้องถิ่น เพราะปัญหาปากท้องเป็นปัญหาพื้นฐานของประชาชน แต่อย่างไรก็ตาม ทุกกลุ่มก็ยังไม่อยากพึ่งตนเองด้านการเงิน อยากอาศัยงบประมาณของรัฐเท่านั้น

อบต.ที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับประชาชนหลายแห่ง เช่น เทศบาลศรีเตี้ย ลำพูน หรือเทศบาลบ้านต๋อม พะเยา ได้ร่วมกับชุมชนต่อสู้และดำเนินการเพิกถอนเอกสารสิทธิเพื่อคืนพื้นที่กว๊านพะเยาจากนายทุนซึ่งเข้ามาบุกรุกคืนมากว่า 150 แปลง รวมแล้วประมาณ 500 ไร่ และต่อสู้ขอพื้นที่คืนอีก 1,000 ไร่ ที่มีการออกเอกสารสิทธิที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพื่อนำมาให้กรมที่ดินสำรวจเพื่อออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (นสล.) และให้มีกิจกรรมคืนต้นไม้ให้แก่ผืนป่าทุกปี มีอาสาสมัครทำหน้าที่ผลัดกันเฝ้าระวังรักษาทรัพยากรในพื้นที่มากถึง 90 คน 

อปท.อีกมากมายในชนบทจัดรถรับส่งเด็กไปโรงเรียน จัดสวัสดิการให้คนแก่ และคนพิการที่ส่วนกลางทำไม่ได้ อบต.หลายพื้นที่รณรงค์ให้ประชาชนแยกขยะ ทำธนาคารขยะ มีระบบแยกขยะ สมกับแนวคิดที่ว่า เอาอำนาจไปใกล้ปัญหาก็จะทำให้การแก้ไขปัญหาง่ายขึ้นและดีขึ้น ถ้าไม่กระจายอำนาจประชาชนไทยจะลำบากมากกว่านี้

สิ่งที่อยากเห็นจากการร่างรัฐธรรมนูญก็คือ การกำหนดให้รัฐต้องให้ความเป็นอิสระต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามหลักปกครองตนเอง ตามเจตนารมณ์ของประชาชนในท้องถิ่นและยังคงการเลือกตั้งไว้ และน่าจะกำหนดให้สามารถมีอำนาจปกครองตนเองตามศักยภาพและกฎเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในกฎหมาย เพื่อว่า อปท.ขนาดเล็กจะสามารถมีนวัตกรรมได้ตามความเหมาะสมต่อไป 

ที่มาข่าว http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1424441983

ไม่มีความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.